เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยจี้รัฐเอาที่ราชพัสดุจากคนรวยคืนให้คนจน

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ เวลา 14.00 น.ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) นำโดยตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคเหนือ ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 และตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนรักษ์เทือกเขาบรรทัด ได้ยื่นหนังสือถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (สมัคร สุนทรเวช) ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เรื่องให้ทบทวนนโยบายการให้เช่าที่ราชพัสดุและดำเนินการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย”  

โดยหนังสือระบุว่า สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2551 ให้ขอคืนพื้นที่ราชพัสดุจากหน่วยงานราชการเพื่อให้เกษตรกรเช่าจำนวน 1 ล้านไร่เพื่อให้เกษตรกรเช่าปลูกพืชอาหารและพลังงาน โดยกำหนดอัตราค่าเช่าไม่ต่ำกว่า 20 บาท/ไร่ ระยะเวลาตั้งแต่ 1-30ปี โดยมีข้อเรียกร้องมายังรัฐบาล ดังต่อไปนี้ 

1.

ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานรัฐนักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน และประชาชน ให้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าว 

2.

กลุ่มเป้าหมายในการได้รับสิทธิการเช่าตามนโยบาย ต้องเป็นเกษตรกรที่ยากจนที่มีความประสงค์จะทำการผลิตในที่ดิน พิจารณาได้จากข้อมูลการขึ้นทะเบียนคนยากจน ประเภทที่ดิน (สย.1) 

3.

รัฐบาลควรมีนโยบายนำที่ดินของเอกชนรายใหญ่ที่ถือครองที่ดินจำนวนมากและที่ดินเอ็นพีแอลที่ถูกทิ้งร้างมาจัดสรรให้กับเกษตรกรที่ไร้ที่ดินหรือมีที่ดินทำกินไม่เพียงพอ แทนการนำที่ดินของรัฐมาจัดสรร 

4.

รัฐบาลต้องตรวจสอบผลการดำเนินงานตามโครงการรัฐเอื้อราษฎร์ที่กรมธนารักษ์นำที่ดินมาให้เกษตรกรเช่าในช่วงที่ผ่านมา เช่น กรณีที่ราชพัสดุบริเวณอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ แปลงที่ ชม. 1664 อย่างเร่งด่วนและหากพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงสิทธิในที่ดิน และที่ดินดังกล่าวอยู่ในมือเอกชนรายใหญ่ที่ไม่ใช่เกษตรกร ต้องดำเนินการยกเลิกสัญญาเช่า และนำที่ดินกลับมาให้เกษตรกร 

 

นอกจากนั้น ทางเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินที่มีมาจากอดีต ดังนี้ คือ 

1.

ให้รัฐบาลยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 เรื่องการแก้ปัญหาพื้นที่ป่าไม้ต่อเนื่องจากแนวทางตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิ์ของชุมชนที่อยู่อาศัยในเขตป่าอย่างรุนแรง 

2.

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยทบทวนคำสั่งเรื่องการปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าเ นื่องจากมีผลกระทบต่อเกษตรกรที่ถือครองที่ดินทับซ้อนกับพื้นที่ป่าและอยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมระหว่างรัฐกับประชาชน 

3.

ให้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ให้เร่งแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดยให้ยุติการจับกุม ข่มขู่ คุกคามและดำเนินคดีกับชาวบ้าน รวมทั้งผ่อนผันให้สามารถทำประโยชน์ที่ดินเดิมได้ จนกว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาจะหาข้อยุติได้ โดยกระบวนการดังกล่าวต้องอยู่บนหลักของการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวคือ วิธีการตรวจสอบต้องมีความหลากหลายโดยไม่ยึดเอาตามหลักฐานทางราชการ เช่น แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ เป็นหลักฐานแต่เพียงอย่างเดียว 

4.

ให้นายกรัฐมนตรีสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดตรังให้ยุติคำสั่งทางปกครองเรื่องการทำลายทรัพย์สิน และพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านที่ทำประโยชน์ในพื้นที่ทำกินเดิม โดยเร่งด่วน 

5.

ให้พิจารณายกเลิกการต่อสัญญาเช่ากับเอกชนรายใหญ่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรมนำมาดำเนินการปฏิรูปที่ดินแก่เกษตรกร 

 

ทั้งนี้ นายดิเรก กองเงิน ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวประชาธรรม ว่า การเช่าที่ดินราชพัสดุที่มีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2546 ที่ อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่นั้นผิดกับหลักการกระจายที่ดิน เพราะรัฐบอกว่ารัฐจะจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกรแต่พอออกมากลายเป็นว่าเป็นสัญญาเช่า ภายใน 3 ปีที่ให้เช่านั้นห้ามมีสิ่งปลูกสร้างขึ้นในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นบ่อน้ำ สระ หรือว่าบ้านก็ไม่ได้ และถ้าหากหมดสัญญาเช่าแล้วต้องปรับสภาพพื้นที่ให้เหมือนเดิมซึ่งคงไม่มีใครกล้าที่ที่จะลงทุน ซึ่งถือว่าเป็นการกีดกันชาวบ้าน 

แต่ว่าในเวลานี้ 3 ปีที่ครบกำหนดไปชาวบ้านที่มีที่ดินไว้ก็ทำอะไรไม่ได้ สาธารณูปโภครัฐก็ไม่จัดสรรมาให้ ไฟไม่มีน้ำไม่มี ก็จำเป็นต้องสละสิทธิก็กลายเป็นว่าเป็นคนรวยที่เข้ามาสวมสิทธิแทนที่ เพราะเขารู้ว่าต่อไปข้างหน้าจะสามารถเช่าพื้นที่ได้นานถึง 30 ปี ในเวลานี้ที่ดินจึงหลุดมือออกจากชาวบ้านไป 2 ใน 3 ของพื้นที่แล้วนายดิเรก กล่าว 

 

นายดิเรก กล่าวต่อว่า สิ่งที่ควรทำคือต้องเป็นแบบยั่งยืนห้ามซื้อห้ามขาย ในกรณีที่ดอยหล่อบอกว่าห้ามซื้อ ขาย แล้วมีใครติดตามบ้าง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่มีคนติดตาม ซึ่งเป็นนโยบายที่ทำเพื่อการเมือง ทั่วประเทศมีแจกที่ อ.ดอยหล่อที่เดียว เพื่อฐานคะแนน พื้นที่ที่รัฐบาลแจกกับพื้นที่ที่ปฏิรูปที่ดินโดยเกษตรกรที่เป็นที่ดินของเอ็นพีแอลนั้นคนละหลักการกันเลย รัฐทำเพียงให้สิทธิในที่ดิน แต่ว่าไม่ให้สิทธิในการจัดการที่ดิน แต่ว่าของเรานั้นเป็นการจัดการแบบกลุ่มรวมหมู่ มีกระบวนการมีส่วนร่วม ถ้าหากว่ามี 200 หลังคาเรือนเราก็ให้คนทั้ง 200 หลังคาเรือนนั้นได้มีส่วนในการจัดการที่ดินทั้งหมด แต่ว่าในกรณีนี้อยู่ของใครของมันถ้าใครจะขายก็ไม่ต้องสนใจ 

นายบุญ แซ่จุง ตัวแทนองค์กรเครือข่ายชุมชนรักษ์เขาบรรทัด กล่าวว่า พวกเราเป็นห่วงว่านโยบายที่ออกมาจะไม่สามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาได้จริง ๆ จากการที่เราลงไปดูพื้นที่ ที่ อ.ดอยหล่อ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหา ก็พบว่าถ้าหากการแก้ปัญหาเป็นอย่างที่เขากำลังจัดการกันอยู่ ที่ดินก็จะตกไปอยู่ในมือของนายทุน  แต่ในเวลานี้ภาพภายนอกที่ออกมารัฐบาลกลายเป็นว่า รัฐบาลไปกระจายที่ดินให้กับเกษตรกร เป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งในงานนี้ฝ่ายรัฐบาลหลายคนก็พูดไม่เหมือนกัน บางคนก็บอกว่าจะออกเป็น ส.ป.ก. หรือบางคนก็บอกว่าจะนำไปให้เกษตรกรรายใดคนใดก็ได้เช่าซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นรายเล็ก  เราก็คิดว่านโยบายนี้นั้นยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร แต่สิ่งที่น่ากลัวจากการดำเนินนโยบายก็คือที่ดินอาจจะตกไปอยู่ในมือของนายทุนอีก 

แนวทางที่สำคัญที่สุดก็คือว่าต้องมองว่าที่ดินนั้นไม่ใช่สินค้าที่สามารถซื้อขายกันไปมาได้ เพราะฉะนั้นนายทุนก็จะเก็งกำไรเหมือนกับหุ้น และสุดท้ายผลร้ายก็จะตกอยู่กับเกษตรกรรายเล็กๆ นายบุญ กล่าวทิ้งท้าย 

 

อย่างไรก็ตาม การยื่นหนังสือครั้งนี้มีว่าที่ ร.ต.ยงยุทธ เรืองรัตนกุล ธนารักษ์พื้นที่ จ.เชียงใหม่ เป็นผู้รับเรื่อง และกล่าวว่าจะเร่งประสานงานตามข้อเรียกร้องไปยังนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ โดยเร็ว.

ใส่ความเห็น